ในหลายๆมุมของชีวิตที่ๆเราจำเป็นต้องใช้พลังสมอง เรามักจะนั่ง ไม่ว่าจะที่โรงเรียน ที่ทำงาน มีการสำรวจแล้วว่าการนั่งเป็นเวลานานๆนั้นอาจส่งผลต่อแหล่งพลังงานของสมอง และส่งผลเสียต่อสุขภาพสมองด้วย
สมองเป็นอวัยวะที่ต้องการกลูโคส มันมีน้ำหนักประมาณ 2% ของมวลกาย แต่ต้องการพลังงานถึงประมาณ 20% ของความต้องการพลังงานของเรา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในรูปของกลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง หากการจ่ายพลังงานนี้ถูกรบกวนมันก็จะสามารถทำลายแม้กระทั่งเซลล์สมองได้ ดังนั้นความพร้อมของกลูโคสต่อเซลล์สมองอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของสมองเช่นกัน
การทำให้สมองมีระดับน้ำตาลสูงและระดับน้ำตาลต่ำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้การสลับไปมาระหว่างระดับกลูโคสสูงและต่ำเรียกว่าความแปรปรวนของกลูโคส (glucose variability) ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างความแปรปรวนของกลูโคสที่สูงขึ้นนั้นสัมพันธ์กับฟังก์ชั่นการเรียนรู้ระดับต่ำลง นี่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการควบคุมระดับน้ำตาลอย่างเข้มงวดนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพของสมองของคนเรา
ปัญหาของการนั่งนานเกินไป
การนั่งมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีการประมาณว่าต้องใช้เวลา 60-75 นาทีต่อวันในการออกกำลังกายระดับปานกลางถึงหนักหน่วงเพื่อต้องชดเชยให้กับความเสี่ยงของการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการนั่งมากกว่าแปดชั่วโมงต่อวัน
ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่มาก อย่างน้อยก็เป็นปริมาณสองเท่าของขั้นต่ำในปัจจุบันที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ ดังนั้นแล้วการลดการนั่งอาจเป็นกลยุทธ์เพิ่มเติมในการเสริมสร้างสุขภาพ
มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการลดและแทนที่การนั่งด้วยการเดินช่วยเพิ่มการควบคุมระดับน้ำตาลหลังจากการรับประทานอาหาร นั่นหมายความว่าระดับกลูโคสจะไม่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป สิ่งนี้อาจอธิบายไปในทางที่ขณะกล้ามเนื้อทำงานนั้นจะดึงกลูโคสจากในระบบของเราไปใช้ ซึ่งช่วยรักษาระดับกลูโคสให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
หลักฐานแสดงได้ให้เห็นว่าเมื่อมีการควบคุมระดับกลูโคส กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายแบบกระจายทั้งวันนั้นดีกว่าวันที่มีการออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงเช้า แม้ว่าการใช้พลังงานโดยรวมของกิจกรรมทั้งวันเท่ากับการใช้พลังงานจากกิจกรรมอย่างหนักครั้งเดียว การควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีนั้นอาจแสดงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของการลดเวลานั่ง แต่สิ่งที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อการทำงานของสมองล่ะ?
การนั่งนานและฟังก์ชั่นของสมอง
การศึกษาถึงผลกระทบของการนั่งมากเกินไปต่อการทำงานของระบบสมองนั้นได้ผลลัพท์ออกมาที่หลากหลาย ห้องปฏิบัติการได้ศึกษาทั้งปัจจัยที่สนับสนุนและล้มเหลวในการสนับสนุนในความคิดที่ว่าการนั่งทั้งวันสามารถทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความจำลดลง เมื่อเทียบกับวันที่มีการนั่งและถูกขัดจังหวะให้ทำกิจกรรมต่างๆ
การศึกษาประเภทอื่น ๆ โดยการติดตามผู้คนจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเวลานั่งที่สูงขึ้นและการทำงานของสมองที่ด้อยลง แต่ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ทำได้ยากโดยมีการใช้ตัววัดที่หลากหลาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววิธีการต้องไม่พึ่งพาการรายงานรายบุคคลของผู้เข้าร่วม เพราะการรายงานของบุคคลนั้นไม่แม่นยำเสมอไป การทดลองนี้จึงอาจไม่ได้ผลลัพท์ที่ถูกต้องในทางปฏิบัติ
นอกเหนือจากการวัดประสิทธิภาพโดยตรงเกี่ยวกับงานที่ต้องการความรู้ความเข้าใจ อีกวิธีหนึ่งคือการวัดสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของสมองที่ดีขึ้นในทางทฤษฎี ตัวอย่างเช่นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย New Mexico Highlands ได้แสดงให้เห็นว่าการกระแทกที่เท้าขณะเดินส่งคลื่นความดันผ่านหลอดเลือดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง
การไหลเวียนของเลือดในสมองเกี่ยวข้องกับการควบคุมปริมาณน้ำตาลกลูโคสในสมองและสิ่งนี้อาจส่งผลต่อสุขภาพสมองในช่วงเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่นเรารู้ว่าการลดลงของการไหลเวียนของเลือดในสมองนั้นสัมพันธ์กับการลดลงของการทำงานของสมองในผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์
เราสามารถทำอะไรได้บ้าง?
สำหรับนักวิทยาศาสตร์ เรื่องของการนั่งที่มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการทำงานของสมองนั้นทำให้เกิดความท้าทายในการวิจัย จากหลักฐานที่มีอยู่มีแนวโน้มว่าการลดการนั่งจะช่วยทำให้ความจำเสื่อมช้าลงมากกว่าการทำให้ความจำให้ดีขึ้น
สำหรับคนทั่วไปแล้ว แม้จะไม่ได้มีการศึกษาที่เชื่อมโยงสุขภาพสมองและการนั่ง แต่ควรลดเวลาในการนั่งบ้างเพื่อป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลที่ไม่ดี จำให้ขึ้นใจว่าการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดีอย่างการลดการนั่งหลังมื้ออาหารนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ดังนั้นควรใช้เวลาเดินบ้างหลังทานอาหารมื้อกลางวัน ล้างจานด้วยมือหลังอาหารมื้อเย็น และเดินไปมาในที่ทำงานหากเป็นไปได้ มีโอกาสมากมายที่จะลดเวลานั่งตลอดทั้งวัน และแน่นอนว่ามีโอกาสมากที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพของเราด้วย
ข้อมูลจาก: https://www.weforum.org/agenda/2017/08/why-sitting-down-all-day-is-bad-for-your-brain